งานแถลงข่าวประเพณีแห่ต้นดอกไม้ใหญ่ใหญ่ที่สุกในโลกบ้านแสงภา (คลิป)

Last updated: 10 เม.ย 2566  |  1172 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วันที่ 9 เมษายน 66 ที่วัดศรีโพธิ์ชัย ต.แสงภา อ.นาแห้ว จ.เลย นายณรงค์ จีนอ่ำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พร้อมด้วย นายจริยาทร สูหู่ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานจังหวัดเลย อำเภอนาแห้ว วัฒนธรรม ร่วมแถลงข่าวงานประเพณีแห่ต้นดอกไม้ใหญ่ที่สุดในโลก ระหว่าวันที่ 14-19 เมษายน 2566 มี หน.ส่วนราชการ ประชาชน นักท่องเที่ยวร่วมแถลงข่าว โดยในวันที่ 14 เมษายน 66 จะมีการแห่ต้นไม้รวม 15 ต้น ต้นดอกไม้ใหญ่ที่ใหญ่กว้าง 3 เมตร สูง 3 เมตร ใช้คน 16 คน แบกหามต้นดอกไม้ 
 
ประเพณีการแห่ต้นดอกไม้ตั้งแต่ก่อสร้างวัดแล้วเสร็จจนถึงปัจจุบันกว่า 470 ปี ชาวบ้านเกิดความเชื่อว่า การนำดอกไม้มาบูชาพระ ที่ชาวไทยถือว่าวันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ การบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ถือว่าเป็นสิ่งอันมงคล ด้วยการเก็บดอกไม้ที่สด ดอกสวยงามที่สุด เป็นดอก เป็นช่อ และพัฒนาเป็นพานพุ่ม พานบายศรี ขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ จนพัฒนาไปถึงการทำโครงด้วยไม้เรียกว่าต้นดอกไม้ ขนาดเล็กถือคนเดียว ขนาดกลางใช้คนหาม 4 คน และขนาดใหญ่ใช้คนหาม 6-10 คน
 
โดยชาวบ้านมีความเชื่อและถือเป็นสิริมงคล ที่ได้นำดอกไม้มาบูชาพระรัตนตรัย ขอให้อยู่ดีมีสุข ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ให้ข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์ บ้านเมืองร่มเย็น ปราศจากโรคภัย ไข้เจ็บ วัว ควาย สัตว์เลี้ยงขยายคอกออกผลสมบูรณ์ ประเพณีการแห่ต้นดอกไม้ มีการแห่ทุกปี เริ่มจากวันสรงน้ำพระพุทธรูป เริ่มวันที่ 13 เมษายน โดยหลักปฏิบัติจะเริ่มแห่ตั้งแต่วันที่ 13-16 เม.ย. ติดต่อกันและจะมีการแห่ต้นดอกไม้ทุกคืนวันพระ ตลอดเดือนเมษายนของทุกปี



การแห่ต้องแห่ตอนกลางคืนราว 1 ทุ่ม ถึง 3 ทุ่ม และต้องมาแห่ที่วัดรอบพระอุโบสถเท่านั้น และต้องแห่ให้ครบ 3 รอบ รอบที่ 1 บูชาพระพุทธ รอบที่ 2 บูชาพระธรรม รอบที่ 3 บูชาพระสงฆ์ เมื่อแห่ครบทั้ง 3 รอบแล้ว ต้องวางต้นดอกไม้ทุกต้นไว้รอบพระอุโบสถ เพื่อบูชาพระรัตนตรัยตลอดทั้งคืน รุ่งเช้านำต้นดอกไม้ออกจากวัด การแห่ ผู้หามต้นดอกไม้ต้องโยกประกอบจังหวะให้ต้นดอกไม้หมุนซ้าย ขวา ตามจังหวะเสียงกลอง ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ ที่บรรเลงประกอบจนครบ 3 รอบ ต้องติดเทียนและจุดเพื่อให้เกิดแสงสว่างด้วยทุกต้น

 
สำหรับโครงสร้างต้นดอกไม้ ประกอบโครงสร้างด้วยไม้ไผ่ทั้งหมด ไม่มีลวด ตะปู ผูกหรือตอก โครงสร้างที่สำคัญ มีชื่อตามภาษาถิ่น คือ 1 คาน (ฐานรากใช้หาม) 2 ขาธนู (ส่วนยึดคาน) 3 ง่าม (เสาของต้นดอกไม้) 4 พ่ง (ตัวรัดมุมขนาด) 5 ดวด (ส่วนรัดลำต้น) 6 แกนกลาง แกนค้ำยัน 7 ลี้ก (ระแนงสานรอบต้น) 8 คันกล่อง (ส่วนประกอบสำหรับห้อยสายมาลัย) และ 9 แมงมุม (ส่วนประกอบยอดสูงสุด) การสร้างต้นดอกไม้ต้องนำอุปกรณ์และดอกไม้สดมาประกอบสร้างให้เสร็จภายในวันเดียว จากนั้นจะนำต้นดอกไม้ไปรวมกันที่วัดเพื่อรอเวลาแห่ในตอนค่ำ ก่อนถึงเวลาแห่ทุกคนจะไปรวมตัวกันที่วัด เมื่อถึงเวลาแห่ต้องโยกต้นไม้หมุนตามจังหวะกลองอย่างสวยงาม ต้นใหญ่สุดมีความกว้าง 3 เมตร สูง 15 เมตร"

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้